เกี่ยวกับเรา   |   ติดต่อเรา     

Logo VET@KKU

คณะสัตวแพทยศาสตร์ ใช้เทคนิค HALS (Hand Assisted Laparoscopic Surgery) ในการผ่าตัดโค กระบือ


      กระบือเพศผู้ อายุ 17 เดือน น้ำหนัก 670 กก. ถูกส่งตัวมาจากมหาสารคาม สัตวแพทย์ในพื้นที่ตรวจพบว่ากระบือป่วยมาประมาณ 10 วัน มีอาการกินน้อย ท้องกาง โดยช่วงแรกกระบือมีอาการเบ่งถ่ายปัสสาวะ แต่ไม่พบปัสสาวะออกมา สัตวแพทย์จึงให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า กระบือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะรั่ว และมีน้ำปัสสาวะมาคั่งในช่องท้อง จึงได้ส่งตัวมาที่ คลินิกสัตว์ใหญ่ รพ สัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
      เมื่อกระบือมาถึงคลินิกสัตว์ใหญ่ รพ. สัตว์ มข. สัตวแพทย์ทำการอัลตราซาวนด์ช่องท้อง พบของเหลวคั่งสะสมในช่องท้องปริมาณมาก และเมื่อทำการตรวจโดยการล้วงคลำและใช้อัลตราซาวนด์ตรวจผ่านทางทวารหนัก วินิจฉัยได้ว่ากระบือเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะรั่ว และมีน้ำปัสสาวะสะสมอยู่ภายในช่องจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดแรงดันต่อกระบังลม ทำให้กระบือแสดงอาการหายใจลำบาก ทางสัตวแพทย์จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดฉุกเฉินในคืนนั้นทันที
      การผ่าตัดแก้ไขกระเพาะปัสสาวะรั่ว โดยปกติจะต้องทำการศัลยกรรมเปิดช่องท้องเพื่อสำรวจรอยรั่วและเย็บซ่อมกระเพาะปัสสาวะที่แตกหรือรั่ว ซึ่งการเปิดผ่าเข้าช่องท้องเพื่อเข้าหากระเพาะปัสสาวะในโค-กระบือ จะมีตำแหน่งที่ผ่าและวิธีการแตกต่างจากสุนัข-แมว ซึ่งจะเปิดผ่าเข้าช่องท้องบริเวณแนวกลางลำตัว ในภาวะที่สัตว์ถูกวางยาสลบและจับนอนหงาย แต่การเปิดผ่าเข้าช่องท้องเพื่อเข้าหากระเพาะปัสสาวะในโค-กระบือที่มีขนาดใหญ่ จะไม่สามารถทำได้เหมือนในสุนัข-แมว โดยมีข้อจำกัดคือโค-กระบือที่มีขนาดใหญ่ การวางยาสลบให้สัตว์หมดสติจะกระทำได้ค่อนข้างยาก และมีความเสี่ยงอันตราย อาทิโค-กระบือไม่สามารถอดอาหารให้กระเพาะว่างได้ ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารจากกระเพาะอาหารได้สูง โค-กระบือมีขนาดของกระเพาะอาหารที่ใหญ่มาก ทำให้เวลานอนหงายกระเพาะอาหารจะกดกระบังลมทำให้หายใจได้ลำบาก ส่งผลให้เสี่ยงกับการขาดออกซิเจนได้สูง โค-กระบือมีน้ำหนักตัวมากซึ่งหากนอนในเวลานานๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเสียหายอย่างรุนแรง จนไม่สามารถที่จะลุกยืนได้เอง ดังนั้นการเปิดผ่าเข้าช่องท้องในโค-กระบือ จะเป็นการใช้ยาชาฉีดเข้าระงับความรู้สึกของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงที่ช่องท้องแทน โดยที่สัตว์ยังสามารถที่จะยืนทรงตัวได้ และตำแหน่งที่จะผ่าตัดเข้าช่องท้องก็จะเป็นตำแหน่งบริเวณสีข้าง ถัดจากกระดูกซี่โครงชิ้นสุดท้าย
      โดยปกติการผ่าตัดเพื่อสำรวจและเย็บซ่อมกระเพาะปัสสาวะในโค-กระบือ จะต้องดึงกระเพาะปัสสาวะให้โผล่ออกมาที่ขอบแผลเพื่อทำการสำรวจรอยรั่วและเย็บซ่อม แต่ในกรณีโค-กระบือที่มีช่องท้องขนาดใหญ่ หรือกระเพาะปัสสาวะหดเกร็งไม่มีความยืดหยุ่น จะไม่สามารถดึงกระเพาะปัสสาวะมาที่ขอบแผลได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาส่วนใหญ่ จะใช้วิธีนำสองมือเข้าไปล้วงคลำกระเพาะปัสสาวะ และคลำเย็บโดยที่มองไม่เห็นตัวกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีข้อด้อยคือต้องเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่เพื่อให้สองมือเข้าได้ และการมองไม่เห็นตัวกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้เย็บปิดรอยรั่วได้ไม่สนิท
      ดังนั้นสำหรับในเคสนี้ ทางทีมสัตวแพทย์ ได้พัฒนานำเทคนิค HALS (Hand Assisted Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแบบหนึ่งของทางการแพทย์ มาปรับใช้กับการผ่าตัดทางสัตวแพทย์สำหรับกระบือรายนี้ โดยจะทำการเปิดแผลขนาดที่สามารถใช้มือหนึ่งข้างล้วงเข้าไปในช่องท้องได้ และจะเป็นทางเพื่อระบายน้ำปัสสาวะออกจากช่องท้อง (ในเคสนี้ระบายน้ำออกมาประมาณ 100 ลิตร) จากนั้นใช้กล้องส่อง (laparoscope) เข้าไปสำรวจรอยรั่วที่กระเพาะปัสสาวะ โดยใช้มือข้างหนึ่งล้วงเข้าไปจับประคองกระเพาะปัสสาวะ อีกข้างถือกล้องสำรวจให้เห็นภาพทั่วทั้งกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นเมื่อพบรอยรั่วที่กระเพาะปัสสาวะ จึงทำการสอดเครื่องมือที่ใช้สำหรับผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปเย็บปิดกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งข้อดีของวิธีการนี้ จะสามารถทำให้ผู้ทำการผ่าตัดมองเห็นภาพในการเย็บตัวกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ลึกในช่องท้องของกระบือได้ ผ่านทางจอภาพ ทำให้เย็บปิดรอยรั่วของกระเพาะปัสสาวะได้อย่างสนิทดีและไม่มีรั่วซึม อีกทั้งยังทราบสาเหตุว่าที่กระบือรายนี้เกิดการรั่วของกระเพาะปัสสาวะนั้น เกิดมาจากนิ่วที่อุดตันท่อทางเดินปัสสาวะส่วนลึงค์ สัตวแพทย์จึงทำการสวนล้างและคีบนิ่วดังกล่าวออกจากท่อปัสสาวะ และทำการฝังท่อระบายปัสสาวะจากตัวกระเพาะปัสสาวะออกมาผ่านทางผนังหน้าท้อง (tube cystotomy) โดยการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง

CREDIT: ผศ.ดร.สุวลักษณ์ ศรีสุภา และทีมงานคลินิกสัตว์ใหญ่

 

Photos



ข่าวด้านการศึกษาต่อเนื่องและบริการวิชาการ

สารสนเทศองค์กร      
       

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002
โทร. 043 202404 หมายเลขภายใน มข. 47001
แสดงความคิด เห็นของคุณมาได้ที่ : wyanyo@kku.ac.th

  Follow Us   . . .